GPU Mining Rig 101: เข้าสู่โลกของบิตคอยน์ คริปโตเคอร์เรนซีและการขุดเหรียญ
ภาพที่ 1 GPU Mining Rig 101: เข้าสู่โลกของบิตคอยน์ คริปโตฯ และการขุดเหรียญ
สถิติโลกพบว่าชาวไทยถือครองคริปโตฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
บิตคอยน์ (Bitcoin) ทำให้โลกได้เห็นถึงการกระจายศูนย์อำนาจทางการเงิน
ค้นหาคำตอบว่าทำไมกระแสการขุด Bitcoin หรือขุดเหรียญคริปโตฯ ถึงทำให้ชาว Gaming หัวร้อน !!!
ภาพที่ 1 GPU Mining Rig 101: เข้าสู่โลกของบิตคอยน์ คริปโตฯ และการขุดเหรียญ
"สถิติโลกพบว่า ชาวไทยถือครองคริปโตเคอร์เรนซีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก"
ผลสำรวจจาก Digital 2022 Global Overview Report เกี่ยวกับพฤติกรรมคนในยุคดิจิทัล โดย We Are Social และ Hootsuite พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโลกคริปโตคือ คนไทยเป็นชนชาติที่มีสัดส่วนต่อประชาชนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถือครองคริปโตเป็นอันดับ 1 ของโลก
จากรายงานระบุว่า คนไทย มีสัดส่วนต่อประชาชนในการถือครองคิดเป็น 20.1% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 10.2% มากกว่าเป็นเท่าตัว โดยสัดส่วนของอายุที่ชื่นชอบการเล่นคริปโตอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 16 – 44 ปี
ถึงแม้ การลงทุนด้านสินทรัพย์ในคริปโตจะเป็นตลาดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่กลับเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ถือครองคริปโตรองจากไทย คือ ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และตุรกี
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงชักจะเริ่มสงสัยว่า คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กับ บิตคอยน์ (Bitcoin) ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันหรือ ?
บทความวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักตั้งแต่โลกของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี กับ Bitcoin รวมทั้งการขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) หรือ การขุดเหรียญคริปโต (Crypto Mining) ที่ทำให้ชาว Gaming ถึงกับหัวร้อนเพราะกระแสการขุดเหรียญคริปโตที่ทำให้ราคาการ์ดจอที่แพงขึ้นเป็นเท่าตัวและสินค้าขาดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าถามว่าอะไรคือหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงตั้งแต่ปี 2021 ประโยคที่ทุกคนได้ยินและต่างพูดถึงคือ “คริปโตเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า คริปโตฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน
ความสำคัญของ บิตคอยน์ (Bitcoin) คือ การเป็นสกุลเงินคริปโตฯ สกุลแรกของโลก (ปัจจุบันมีสกุลเงินคริปโตฯ กว่า 10,000 สกุล เหรียญคริปโตที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหู เช่น ETH, BNB, ADA, USDT, DOGE, SHIBA เป็นต้น
บิตคอยน์ (Bitcoin) ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2019 โดย Satoshi Nakamoto มีเป้าหมายสำคัญคือ การกระจายศูนย์อำนาจ (Decentralized) หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการท้าทายระบบการเงินแบบเดิมที่เป็นระบบรวมศูนย์ (Centralized) ซึ่งทุกอย่างถูกควบคุมโดยตัวกลางที่ทุกคนให้ความเชื่อถือในการดูแลธุรกรรมเหมือนกับระบบธนาคาร และสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางในการตรวจสอบการโอนเงินนั้นให้กับเรา ยิ่งในกรณีธนาคารพาณิชย์จะมี ผู้ตรวจสอบบัญชีของธนาคารนั้น ๆ ที่ทำการตรวจสอบบัญชีและการดำเนินงานต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน ใกล้ตัวที่สุดคงเป็น ‘สกุลเงินบาทไทย’ ระบบการเงินแบบรวมศูนย์จะมีธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน ควบคุมปริมาณทางการเงิน การพิมพ์ธนบัตรในระบบและการออกหลักเกณฑ์กำกับสถาบันการเงินเพื่อทำให้สกุลเงินบาทไทยมีความน่าเชื่อถือและทำให้คนในประเทศสามารถนำเงินบาทไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการในประเทศจนถึงระดับสากล
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized) จะมีผู้ตรวจสอบบัญชีค่อยเข้ามาตรวจสอบ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ หรือเกิดกรณีที่จงใจร่วมมือกันแก้ไขบัญชีก็จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในทันที
คำถามคือ สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตฯ และบิตคอยน์ ที่จับต้องไม่ได้หรือที่หลายคนเรียกว่าเงินในอากาศจะมีมูลค่าและความน่าเชื่อถือเหมือนเหรียญกับธนบัตรที่ใช้แลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ?
เทคโนโลยีของ บิตคอยน์ จะมีการเข้ารหัสเพื่อยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรมในการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ทำงานภายใต้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ซึ่งเป็นบัญชีสาธารณะที่ประมวลผลการทำธุรกรรมของ BTC หรือเหรียญคริปโตอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain บันทึกข้อมูลลงบนบล็อก (Block) และส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดในระบบต่อกันเป็นสายโซ่ยาว ๆ ที่เรียกว่า Blockchain
บล็อกเชน คือ บัญชีสาธารณะที่ไม่มีตัวกลางเหมือนกับระบบการเงินในปัจจุบัน (ตัวกลางในทีนี้ นึกถึงเวลาเราไปธนาคารเพื่อทำการโอนเงิน ตัวกลางคือ ธนาคารที่ทำการบันทึกการทำธุรกรรมของเรา) แต่บล็อกเชนเป็นบัญชีสาธารณะที่มีการเก็บสำเนาข้อมูลไว้ตาม Node ต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบและส่งข้อมูล
**เพิ่มเติม เทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรมของ BTC ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีบล็อกเชนได้ที่เว็บไซต์ blockchain.info ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลธุรกรรมในระบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 2 ตัวอย่างเครื่อง GPU Mining Rig” (เครื่องขุดเงินดิจิทัลที่ใช้การ์ดจอคอมพิวเตอร์)
ในช่วงปี 2021 ข่าวที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านทาง Social Media คือ ราคาการ์ดจอพุ่งแรงเป็นทวีคูณและปัญหาการ์ดจอขาดแคลนในตลาด ซึ่งเกิดจากโรงงานผลิตชิปไม่ทันและผู้คนจำนวนมากต่างแห่กันไปซื้อการ์ดจอมาประกอบสิ่งที่เรียกว่า “GPU Mining Rig” (เครื่องขุดเงินดิจิทัลที่ใช้การ์ดจอคอมพิวเตอร์) เพื่อใช้ในการขุดเหรียญคริปโตฯ หรือเงินดิจิทัล จนทำให้การ์ดจอขาดตลาด ผลที่ตามมาคือ ราคาการ์ดจอทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะในไทยพุ่งสูงขึ้น
หลายคนน่าจะเกิดคำถามว่า ภาพของคอมพิวเตอร์ที่ประกอบไปด้วยการ์ดจอ (GPU) มากกว่า 1 อัน เปิดให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีพัก จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินดิจิทัลด้วยการขุด (Mining) ได้อย่างไร ?
ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่าการขุดเหรียญคริปโตฯ หรือเงินดิจิทัล ต้องย้อนกลับไปพูดถึง BTC ก่อน อย่างที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่า การกำเนิดของ BTC ทำให้โลกได้เห็นถึง การกระจายศูนย์อำนาจทางการเงิน (Decentralized) หรือระบบที่ไม่มีตัวกลางทางการเงินทำให้เกิดปัญหาว่า เราจะทำให้ทุกคนเชื่อถือหรือยอมรับในมูลค่าของสิ่งนี้ได้อย่างไรโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อถือตัวกลางคนใดคนหนึ่ง
คำตอบที่ BTC กับเทคโนโลยี Blockchain ให้กับเราคือ การนำเสนอวิธีในการแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสของธุรกรรมการเงินโดยไม่อาศัยตัวกลาง คือ “การขุด” (Mining) ที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินดิจิทัล และธุรกรรมดังกล่าวยังถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีหัวใจสำคัญคือ “Blockchain”
การขุด คือ การแข่งขันเพื่อแย่งสิทธิในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมและบันทึกธุรกรรมดังกล่าวลงไปในบัญชีเพื่อบ่งบอกว่าธุรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงและมีความถูกต้อง เสมือนกับว่าเราเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี (พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว และณัฐชนน โพธิ์เงิน 2564)
กลไกของ Bitcoin ในการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมคือ การได้รับผลตอบแทนเป็น BTC จากการใช้ศักยภาพในการประมวลผลของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใส่เข้ามาในระบบ และกลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนร่วมจะถูกเรียกว่า “นักขุดเหมืองบิทคอยน์” (Miners)
**วันแรกที่ Bitcoin เปิดการใช้งาน ผู้ก่อตั้งได้ตั้งผลตอบแทนจากการขุดไว้ที่ 50 BTC ต่อการประมวลผลหนึ่งบล็อก และจำนวนผลตอบแทนดังกล่าวจะลดลงครึ่งหนึ่งในทุก ๆ 4 ปี โดยจำนวน BTC ในตลาดจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่รัฐบาลกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งได้กำหนดไว้ว่า BTC จะหยุดผลิตออกมา เมื่อมีปริมาณ BTC ในระบบอยู่ที่ 21 ล้าน BTC
ในยุคเริ่มแรก การขุดบิตคอยน์ใช้เพียงแค่ ซีพียู (CPU) หรือหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (พวก CPU Core รหัส i5 i7 i9 ที่หลาย ๆ ท่านเคยเห็นตอนจัดสเปคคอม) ในการขุด ถ้าใครเคยอ่าน White Paper ที่คุณ Satoshi Nakamoto เขียนไว้ตอนเริ่มเปิดระบบบิตคอยน์ จะมีประโยคหนึ่งที่เขียนว่า “One CPU One Vote” หมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะเข้ามาเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรมของบิตคอยน์ได้
ในเวลาต่อมา เมื่อบิตคอยน์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นักขุดต้องการผลตอบแทนที่เป็นบล็อกรีวอร์ดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงพยายามหาอุปกรณ์ที่สามารถถอดรหัส SHA – 256 หรืออุปกรณ์ที่สามารถแก้ไขโจทย์ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้เริ่มมีการนำการ์ดจอคอมพิวเตอร์ (GPU)ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมวลผลการแสดงภาพของคอมพิวเตอร์ ทำให้กำลังในการแก้ไขโจทย์ที่รวดเร็วขึ้นเป็นหลายเท่ากว่าการใช้ CPU
สิ่งที่เกิดขึ้น นักขุดส่วนใหญ่ต่างซื้อการ์ดจอจำนวนมากเพื่อมาประกอบเป็นริก (Rig) ที่มีการ์ดจอหลาย ๆ ตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขุดบิตคอยน์ ดังนั้นอุปกรณ์เดิมอย่าง CPU จึงไม่สามารถขุดเพื่อสร้างรายได้ หรือขุดได้แต่ไม่คุ้มค่าไฟและต้นทุน
ภาพที่ 3 ตัวอย่างภาพเครื่อง ASICs (Application-Specific Integrated Circuits)
ในเวลาถัดมา มูลค่าบิตคอยน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีกลุ่มนักขุดที่คิดค้นอุปกรณ์พิเศษสำหรับการแก้ไขโจทย์ SHA – 256 (การถอดรหัสสมการการขุดบิตคอยน์) โดยเฉพาะ เรียกว่า “ASICs ” (Application-Specific Integrated Circuits) ซึ่งมีกำลังในการขุดมากกว่าริกที่ใช้การ์ดจอขุดหลายเท่าตัว
ประสิทธิภาพในการถอดรหัส SHA – 256 ของการ์ดจออยู่ที่ระดับ 2 – 4 GH/s ส่วน ASICs ในรุ่น Antminer S9 มีกำลังในการถอดรหัสถึง 13.5 TH/s ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การขุดบิตคอยน์โดยใช้เครื่อง ASICs ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้การขุด BTC โดยตรงในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ GPU Mining Rig ขุดตรงได้อีกต่อไป เนื่องจากค่า Difficulty ในระบบบิตคอยน์ถูกปรับให้มีความยากเพิ่มมากขึ้นเพราะการประสิทธิภาพในการขุดโดยใช้ ASICs ทำให้โอกาสในการใช้ GPU หรือ CPU ขุดเพื่อสร้างรายได้ลดลง
การกำเนิดของเครื่องขุด ASICs ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อถอดรหัสอัลกอริทึม SHA – 256 โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในระบบบิตคอยน์ที่เดิ,ทีต้องการให้ทุกคนที่มี CPU สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในระบบ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความเข้าใจผิดในปัจจุบันคือ “การ์ดจอใช้ขุดบิตคอยน์” ความจริงอย่างที่ได้กล่าวในย่อหน้าก่อนหน้า เพราะการมาของเครื่อง ASICs ทำให้การใช้การ์ดจอขุด BTC ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ดังนั้น GPU Mining Rig ที่เราเห็นในปัจจุบัน จึงถูกนำไปใช้ขุดเหรียญดิจิทัลหรือคริปโตฯ สกุลอื่น ๆ ที่ใช้การถอดรหัสต่างจาก BTC เช่น ETH, ERGO, RVN เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มเกิดคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเราต้องการขุด BTC ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ใช้ GPU Mining Rig แต่ไปใช้เครื่อง ASICs ดูจะคุ้มค่ากว่า ?
ในความคิดเห็นของผม เครื่อง ASICs คือ อุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อถอดรหัสอัลกอริทึม SHA – 256 ของ BTC เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปขุดเหรียญหรืออัลกอริทึมอื่น ๆ ได้เหมือน GPU หากมีเครื่อง ASICs รุ่นใหม่ ๆ ที่มีกำลังขุดสูงกว่าเดิมออกมา จะทำให้อุปกรณ์รุ่นเก่าขุดได้ไม่คุ้มค่าไฟเหมือนกับที่ CPU กับ GPU เคยประสบ
การประกอบริกที่ใช้การ์ดจอขุดสามารถนำมาขุดได้หลากหลายอัลกอรึทึมมากกว่าทำให้การลงทุนประกอบริกการ์ดจอยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ในอนาคตหากเราเลิกขุด การ์ดจอยังสามารถนำไปประกอบคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมหรือทำงาน Graphic ได้
ภาพที่ 4 การสร้างรายได้ของนักขุด
จากภาพที่ 4 เมื่อมีการโอน BTC เกิดขึ้น เช่น การโอนจากนาย A ไปนาย B จำนวน 50 BTC ซึ่งมีค่าธรรมเนียมในการโอน 0.001 BTC การโอนหรือการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะถูกสร้างโดยนาย A ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม โดยธุรกรรมนี้จะถูกนำไปรวมกับธุรกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกว่า “บล็อก”
ขั้นตอนต่อมา ข้อมูลธุรกรรมในแต่บล็อกซึ่งเป็นชุดตัวเลขที่สามารถถอดรหัสได้ด้วยคอมพิวเตอร์จะต้องถูกนำมาเข้ารหัสที่เรียกว่า เรียกว่า “แฮชชิง” (hashing) สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้ารหัสจะเรียกว่า “แฮช” (Hash)
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้ารหัสบล็อกเหล่านี้ คือ โจทย์ในการแข่งขันที่ทุกคนในระบบ BTC จะต้องแย่งชิงกันเพื่อไขโจทย์ให้ได้เป็นผู้ยืนยันธุรกรรมบล็อก โดยผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันคือ “นักขุด” (miner) ที่จะต้องเป็นโหนดและถือบล็อกเชนล่าสุดเอาไว้เปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ได้รับเช็คจำนวนหนึ่ง หลังจากที่รวบรวมเช็คก็จะดำเนินการใส่ข้อมูลลงไปในระบบธนาคาร เปรียบเสมือนการบันทึกลงบล็อกเชน
รางวัลที่จะได้รับเพื่อแลกกับการได้สิทธิ์เป็นผู้บันทึกบล็อกดังกล่าวลงในบล็อกเชนคือ “บล็อกรีวอร์ด” (Block reward) และค่าธรรมเนียมของแต่ละธุรกรรมในบล็อกที่จะเป็นค่าตอบแทนจากการขุดที่ช่วยสร้างระบบที่เข้มแข็งให้แก่ BTC
จากที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าถึง การมาของเครื่อง ASICs ที่ทำให้การนักขุดที่ใช้การ์ดจอไม่สามารถขุด BTC โดยตรงได้อีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันมีนักขุดจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแข่งขันในการถอดรหัสบล็อก (Block) ดังนั้นนักขุดแบบเดี่ยว (Solo Mining) จึงไม่สามารถสร้างกำไรจากการขุดได้อีกต่อไป ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของนักขุดหลาย ๆ คนไว้ด้วยกัน เรียกว่า “Pool Mining”
การขุดแบบกลุ่ม (Pool Mining) คือ การรวมตัวของนักขุดหลาย ๆ คน แต่ส่งตัวแทนการขุดเข้ามาตัวคนเดียว รางวัลหรือค่าธรรมเนียมที่ได้จากการขุดก็จะถูกแบ่งให้กลุ่มนักขุดในพูล ตามกำลังการขุดที่แต่ละคนส่งมาช่วยเหลือ ดังนั้นการรวมตัวกลุ่มนักขุด ทำให้นักขุดหน้าใหม่ไม่จำเป็นต้องมีบัญชี Blockchain ที่ใช้ในการยืนยันธุรกรรม เนื่องจากมีเจ้าของกลุ่มหรือเจ้าของพูลเป็น Full Node
ท้ายที่สุด การลงทุนขุดในวงการคริปโตฯ นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดและคำนึงถึงต้นทุนต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน เช่น ค่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, ค่าเสื่อม, ปัจจัยที่ผันแปร, ค่าไฟฟ้า, ราคา BTC หรือเหรียญดิจิทัลสกุลอื่น ๆ ฯลฯ เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง
สถิติโลกพบว่า ชาวไทยถือครองคริปโตเคอร์เรนซีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก
พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว และณัฐชนน โพธิ์เงิน. 2564. Bitcoin & Blockchain 101 เงินดิจิทัลเปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ: สต็อคทูมอร์โรว์
Wearesocial. 2022. DIGITAL 2022: ANOTHER YEAR OF BUMPER GROWTH. Accessed March 19, 2022.